จ๊าป่าน ๓

Boehmeria virgata (G. Forst.) Guillem. subsp. macrophylla (Hornem.) Friis et Wilmot-Dear var. minuticymosa Acharya, Friis et Wilmot-Dear

ไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้น พบน้อยที่ร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกห่างหรือคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบตั้งแต่ใกล้ปลายกิ่งลงมา ช่อดอกเพศผู้มักอยู่ที่ซอกใบช่วงล่าง ช่อดอกเพศเมียมักอยู่ที่ซอกใบช่วงบน ดอกสีขาวอมเขียว ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กว้างถึงรูปเกือบกลม ค่อนข้างแบน เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

จ๊าป่านชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑.๕ ม. อาจพบรากอากาศตามข้อของลำต้นช่วงล่าง ตามลำต้นมีขนสั้นหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปขอบขนานกว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม ยาวได้ถึง ๑.๗ ซม. โคนสอบหรือมน อาจเบี้ยวขอบจักฟันเลื่อย จักมีขนาดกว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๑.๒-๓ มม. ใบที่อยู่ช่วงบน ๑-๒ คู่ มีขนาดค่อนข้างเล็กมากแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนหยาบแข็ง ด้านล่างมีขนสั้นและละเอียดกว่า เส้นโคนใบ ๓ เส้น เฉพาะเส้นกลางมีเส้นแขนงใบข้างละ ๑-๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได หูใบรูปใบหอกแคบ ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม.ด้านนอกมีขนหนาแน่นเป็นแถบตามแนวเส้นกลางของหูใบ ด้านในมีขน ก้านใบยาว ๔-๑๐ ซม. มีขนสั้นหนาแน่น

 ดอกแยกเพศร่วมต้น พบน้อยที่ร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกห่างหรือคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบตั้งแต่ใกล้ปลายกิ่งลงมา ช่อดอกเพศผู้มักอยู่ที่ซอกใบช่วงล่าง ช่อตั้งขึ้นและมักแยกแขนงที่โคนช่อ ช่อยาว ๕-๗ ซม. แต่ละกระจุกย่อยห่างกัน ๑-๓ มม. ช่อดอกเพศเมียมักอยู่ที่ซอกใบช่วงบน ก้านช่อตั้งขึ้น แกนกลางช่อส่วนใหญ่ห้อยลง ช่อยาว ๕-๒๐ ซม. มักไม่แตกแขนง หากแตกแขนง แขนงอาจยาวได้เพียง ๑ ซม. และเป็นแขนงของช่อดอกเพศผู้ ใบประดับยาว ๕-๖ มม. ปลายแหลม ช่อกระจุกย่อยของช่อดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ก้านช่อดอกเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขนสั้นตรงกระจายทั่วไป ใบประดับย่อยสีแดง รูปไข่แคบหรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๐.๔ มม. ดอกสีขาวอมเขียว ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกเพศผู้ขนาดประมาณ ๐.๕ มม. มีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูและอับเรณูเล็กมาก ดอกเพศเมียรวมก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนเป็นพู่ ยาว ๐.๕-๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่กว้างถึงรูปเกือบกลม ค่อนข้างแบน ด้านข้างแต่ละข้างมีเส้นแถบเป็นสัน ครึ่งบนมีขนสั้นประปราย มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ผลมักออกเป็นช่อเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล แต่ละผลมี ๑ เมล็ด

 จ๊าป่านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่าดิบที่ค่อนข้างเปิดโล่งที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงมกราคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล เมียนมา จีน เวียดนาม และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จ๊าป่าน ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Boehmeria virgata (G. Forst.) Guillem. subsp. macrophylla (Hornem.) Friis et Wilmot-Dear var. minuticymosa Acharya, Friis et Wilmot-Dear
ชื่อสกุล
Boehmeria
คำระบุชนิด
virgata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam
- Guillemette, M. K.
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. macrophylla
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Hornem.) Friis et Wilmot-Dear
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forster, Johann Georg Adam (1754-1794)
- Guillemette, M. K. (1988-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ